ข้อบังคับ /ระเบียบ / ประกาศ สหกิจศึกษา

ประกาศคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร

เรื่อง หลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติในการจัดการและการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา

เพื่อให้การจัดการและการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา (Co-operative Education) เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานทางวิชาการของคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติในการจัดการและการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ประกาศนี้เรียกว่า ประกาศคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติในการจัดการและการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา

ข้อ 2. ประกาศนี้ให้ใช้ข้อบังคับตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

ข้อ 3. ในประกาศนี้

“คณะ” หมายถึง คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

“สหกิจศึกษา” หมายถึง การจัดการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาตรีทุกหลักสูตรที่มีรายวิชาสหกิจศึกษา

“สาขาวิชา” หมายถึง สาขาหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักสูตรสาขาวิชาในสังกัดคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

“หัวหน้าสาขา” หมายถึง หัวหน้าสาขาวิชาในสังกัดคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรที่รับผิดชอบหลักสูตรสาขาวิชา

“นักศึกษา” หมายถึง นักศึกษาคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรที่ศึกษาในหลักสูตรที่เปิดสอน

“คณะกรรมการบริหาร หมายถึง คณะกรรมการที่แต่งตั้งให้รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับสหกิจศึกษาประจำคณะ นโยบายสหกิจศึกษาประจำคณะ สัตวศาสตร์และเทคโนโลยี
การเกษตร”

“คณะกรรมการดำเนิน หมายถึง คณะกรรมการและอนุกรรมการที่คณะแต่งตั้งให้งานสหกิจศึกษาประจำ รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานสหกิจศึกษาคณะสัตวศาสตร์และ ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร”

“อาจารย์ที่ปรึกษา” หมายถึง ผู้ที่คณะแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการของนักศึกษา

“สถานประกอบการ” หมายถึง หน่วยงานเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานราชการ ที่คณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เห็นชอบให้นักศึกษาเข้าปฏิบัติงาน

“พนักงานที่ปรึกษา” หมายถึง พนักงานของสถานประกอบการที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลและให้คำแนะนำ ปรึกษาแก่นักศึกษาในระหว่างการปฏิบัติงานรวมทั้งการประเมินผลและรายงานการปฏิบัติงาน

ข้อ 4. ให้คณบดีเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีปัญหาการปฏิบัติตามประกาศนี้ให้คณบดีเป็นผู้วินิจฉัยและการวินิจฉัยของคณบดีถือเป็นที่สุด

หมวดที่ 1
คณะกรรมการบริหารและดำเนินงานสหกิจศึกษา

ข้อ 5. คณะกรรมการบริหารสหกิจศึกษา มีบทบาทและหน้าที่ ดังนี้

5.1 กำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณและบุคลากรทางธุรการ ในการดำเนินงานสหกิจศึกษา

5.2 พิจารณาเสนอการลงโทษนักศึกษาที่ฝ่าฝืนประกาศนี้ต่อคณบดีเพื่อพิจารณาสั่งการ

ข้อ 6. คณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษา มีบทบาทและหน้าที่ ดังนี้

6.1 กำหนดรูปแบบวิธีการดำเนินงาน และแนวทางในการปฏิบัติงานประจำปี

6.2 พิจารณากลั่นกรองนักศึกษาที่ไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

6.3 พิจารณาเสนอการลงโทษนักศึกษาที่ฝ่าฝืนประกาศนี้ต่อคณบดีเพื่อพิจารณาสั่งการ

6.4 ติดต่อและประสานงานในการจัดหาสถานประกอบการ

6.5 ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา อาจารย์ และสถานประกอบการ และแสวงหาความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้าใจอันดีกับสถานประกอบการเกี่ยวกับสหกิจศึกษา

6.6 ประสานความร่วมมือระหว่างสาขาวิชาในการจัดการและดำเนินงานสหกิจศึกษา

6.7 จัดเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนไปปฏิบัติงาน

6.8 พิจารณาการขอเลื่อนเวลาไปปฏิบัติงานของนึกศึกษา ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย

6.9 นิเทศงานและประเมินผลสหกิจศึกษา

ข้อ 7. คณะกรรมการสหกิจศึกษาประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

7.1 คณะกรรมการบริหารสหกิจศึกษาประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ประกอบด้วย คณบดีเป็นประธาน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัย เป็นรองประธาน รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าสาขาวิชาเป็นกรรมการ โดยมีประธานกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ

7.2 คณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
ประกอบด้วย ประธานกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาเป็นประธาน มีรองประธานคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และคณาจารย์ตามที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรเป็นกรรมการ

หมวดที่ 2
คุณสมบัติของสถานประกอบการและนักศึกษา

ข้อ 8. คุณสมบัติของสถานประกอบการ

8.1 เป็นสถานประกอบการที่เล็งเห็นความสำคัญในความร่วมมือในรูปแบบของสหกิจศึกษา

8.2 เป็นสถานประกอบการที่มีการประกอบการที่สอดคล้องกับวิชาชีพและสาขาวิชาเอกของนักศึกษาในสาขานั้นๆ

8.3 เป็นสถานประกอบการที่สามารถจัดหาบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นพนักงานที่ปรึกษา (Job Supervisor)

8.4 เป็นสถานประกอบการที่ยินดีและสามารถจ่ายค่าตอบแทนหรือให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ แก่นักศึกษาตามสถานประกอบการเห็นสมควร

ข้อ 9. คุณสมบัติของนักศึกษาที่สมัครเข้าศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา

9.1 เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ขึ้นไป

9.2 มีความประพฤติเรียบร้อย และไม่อยู่ระหว่างถูกทำโทษทางวินัยหรือถูกภาคทัณฑ์

9.3 มีใบรับรองแพทย์รับรองว่ามีสุขภาพแข็งแรงและไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

9.4 ต้องผ่านการเข้าอบรมในโครงการปฐมนิเทศนักศึกษาฝึกงานและสหกิจศึกษา

9.5 ผ่านรายวิชาตามที่แต่ละสาขาวิชากำหนด ดังนี้

9.5.1 สาขาวิชาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

9.5.1.1 นักศึกษาที่ไปฝึกงานสหกิจศึกษาต้องมีผลการเรียนเฉลี่ย (GPA) ไม่ต่ำกว่า 2.00

9.5.1.2 นักศึกษาที่ไปฝึกงานสหกิจศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนครบทุกรายวิชา จำนวนไม่น้อยกว่า 129 หน่วยกิต ยกเว้น รายวิชา 710 498 สหกิจศึกษา ในกรณีที่นักศึกษาไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ข้างต้น แต่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 1 ภาคการศึกษาหลังการฝึกสหกิจศึกษา ให้นักศึกษายื่นคำร้องขอฝึกสหกิจศึกษาพร้อมทั้งเสนอแผนการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 1 ภาคการศึกษาหลังการฝึกสหกิจศึกษา โดยยื่นเอกสารต่อหัวหน้าสาขาวิชาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อเสนอให้อาจารย์ในสาขาวิชาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร พิจารณาความเหมาะสมและอนุญาตเป็นกรณีไป

9.5.2 สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำ

9.5.2.1 ผ่านการเรียนรายวิชา 711 351 เทคนิควิจัยทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีผลการศึกษาแต่ละรายวิชาของกลุ่มวิชาชีพบังคับในหลักสูตรไม่ต่ำกว่าระดับเกรด D อย่างน้อย 10 รายวิชาจากทั้งหมด 13 รายวิชา ดังต่อไปนี้

– 711 221 การเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ

– 711 222 ปฏิบัติการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ

– 711 321 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด

– 711 322 ปฏิบัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด

– 711 325 อาหารและการให้อาหารสัตว์น้ำ

– 711 323 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

– 711 324 ปฏิบัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

– 711 328 พันธุศาสตร์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

– 711 341 การจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

– 711 326 โรคของสัตว์น้ำ

– 711 352 สัมมนา

– 711 327 คุณภาพน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

– 711 331 การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางน้ำ

9.5.2.2 กรณีที่นักศึกษายังลงทะเบียนเรียนไม่ครบตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ตามข้อ 5.2.1 ยกเว้นรายวิชา 711 452 จุลนิพนธ์ และกลุ่มวิชาชีพเลือก จำนวน 6 หน่วยกิต แต่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 1 ภาคการศึกษาหลังการฝึกสหกิจศึกษา ให้นักศึกษายื่นคำร้องขอปฏิบัติงานสหกิจศึกษา พร้อมทั้งเสนอแผนการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 1 ภาคการศึกษาหลังการฝึกงานสหกิจศึกษา โดยยื่นเอกสารต่อหัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำ เพื่อเสนอที่ประชุมสาขาวิชาพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีไป

9.5.3 สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช

9.5.3.1 ผ่านการเรียนในรายวิชา 700 341 การเตรียมความพร้อมสู่สถานประกอบการ และรายวิชา 712 381 เทคนิคการวิจัยทางพืช

9.5.4 สาขาธุรกิจการเกษตร

9.5.4.1 การเรียนรายวิชา 714 312 ระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจการเกษตร และ รายวิชา 714 313 การวิจัยตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร และมีผลการศึกษาแต่ละรายวิชาไม่ต่ำกว่าระดับเกรด D

9.5.4.2 ผ่านการเรียนรายวิชา 714 341 สัมมนา และมีผลการศึกษา ผ่าน (S)

9.5.4.3 กรณีที่นักศึกษายังลงทะเบียนเรียนไม่ครบตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ข้อ 1 และ 2 แต่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 1 ภาคการศึกษาหลังการฝึกสหกิจศึกษา ให้นักศึกษายื่นคำร้องขอปฏิบัติงานสหกิจศึกษา พร้อมทั้งเสนอแผนการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 1

ภาคการศึกษาหลังการฝึกสหกิจศึกษา โดยยื่นเอกสารต่อประธานหลักสูตรธุรกิจการเกษตร เพื่อเสนอที่ประชุมหลักสูตรธุรกิจการเกษตรพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีไป

หมวดที่ 3
ขั้นตอนการเข้าศึกษาและการลงทะเบียนรายวิชาสหกิจศึกษา

ข้อ 10. กระบวนการและขั้นตอนการเข้าศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา

10.1 การแสดงความจำนง ให้นักศึกษาแจ้งความจำนงสมัครเข้าสหกิจศึกษาในช่วงเวลาที่คณะฯ กำหนด

10.2 การสมัครและการเลือกสถานประกอบการ ให้นักศึกษายื่นคำร้องสมัครเข้าศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา และเลือกสถานประกอบการตามความสนใจได้ไม่เกินคนละ 2 แห่ง โดยคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาจะส่งใบสมัครและประวัตินักศึกษาไปให้สถานประกอบการคัดเลือก

10.3 การคัดเลือกนักศึกษา นักศึกษาจะต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะตามระยะเวลาที่กำหนด และนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจากสาขาวิชาอาจจะต้องเข้ารับการสัมภาษณ์จากสถานประกอบการตามระยะเวลาที่สถานประกอบการกำหนด

10.4 การประกาศผลและยืนยันไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ให้คณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประกาศผลการคัดเลือกนักศึกษาไปปฏิบัติงาน และนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องยืนยันการไปปฏิบัติงานภายในระยะเวลาที่กำหนด

10.5 การลงทะเบียนรายวิชาสหกิจศึกษา
การลงทะเบียนรายวิชาสหกิจศึกษาเป็นไปตาม ประกาศคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง คุณสมบัติของนักศึกษาสหกิจศึกษาสำหรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2555 และ ประกาศคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง คุณสมบัติของนักศึกษาสหกิจศึกษาสำหรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี สาขาธุรกิจการเกษตร หลักสูตร พ.ศ. 2557 ตามประกาศภาคผนวก ก

10.6 การเสนอโครงการและแผนการปฏิบัติงาน นักศึกษาจะต้องเสนอโครงการและแผนปฏิบัติงานที่ผ่านความเห็นชอบของพนักงานที่ปรึกษา ให้คณะกรรมการดำเนินงานภายใน 30 วัน นับจากวันที่เริ่มปฏิบัติงาน

10.7 ในกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนโครงการหรือแผนปฏิบัติงานสหกิจศึกษาไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม จะต้องเสนอผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะ

10.8 การส่งรายงานผลการปฏิบัติงาน นักศึกษาจะต้องส่งรายงานผลการปฏิบัติงานฉบับสมบูรณ์ให้คณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาภายใน 15 วัน หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติงาน

หมวดที่ 4
การเลื่อนการไปปฏิบัติงาน

ข้อ 11. การขอเลื่อนไปปฏิบัติงาน นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้ไปปฏิบัติงานแล้ว จะขอเลื่อนเวลาไปปฏิบัติงานไม่ได้ ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือกรณีที่จำเป็นเท่านั้น โดยมีใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองจากผู้ปกครองมาเป็นหลักฐาน ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะก่อน

หมวดที่ 5
ข้อปฏิบัติ

ข้อ 12. ข้อปฏิบัติของนักศึกษาสหกิจศึกษา

12.1 นักศึกษาต้องไปรายงานตัวที่สถานประกอบการตามกำหนดของคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษา และ/หรือสถานประกอบการ

12.2 นักศึกษาจะต้องเข้าปฏิบัติงานและปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของสถานประกอบการนั้นๆ อย่างเคร่งครัด

12.3 ในระหว่างการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา นักศึกษาจะต้องประพฤติตนสุภาพ เรียบร้อย หากประพฤติตนไม่เหมาะสมจนทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยหรือสถานประกอบการ นักศึกษาผู้นั้นจะถูกเรียกตัวกลับและถือว่าไม่ผ่านการปฏิบัติงานในครั้งนี้

12.4 กรณีที่นักศึกษามีความจำเป็นต้องลากิจ จะต้องได้รับอนุญาตจากสถานประกอบการ ให้สำเนาใบลาและคำอนุญาตส่งมายังคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาเพื่อแจ้งสาขาวิชาและอาจารย์ที่ปรึกษาทราบต่อไป

12.5 ในกรณีที่ลาป่วยติดต่อกันมากกว่า 2 วัน จะต้องมีใบรับรองแพทย์ส่งมาให้สถานประกอบการ ให้สำเนาใบลาและใบรับรองแพทย์ส่งมายังคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาเพื่อแจ้งสาขาวิชาและอาจารย์ที่ปรึกษาทราบต่อไป

12.6 วันลากิจและลาป่วยรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของระยะเวลาปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการนั้น

12.7 ในกรณีที่มีความผิดพลาดจากการทำงานจนเกิดความเสียหาย หากมีการชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากนักศึกษาไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานที่ปรึกษาหรือผู้ดูแล นักศึกษาจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนนี้ด้วยตัวเอง

12.8 ในกรณีที่นักศึกษา ไม่สามารถจะปฏิบัติงานสหกิจศึกษาได้ครบ ตามที่กำหนดของโครงการหรือเกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งจนไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ให้แจ้งมายังคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาโดยทันที เพื่อคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาพิจารณาดำเนินการต่อไป

12.9 หากมีการปรับเปลี่ยนแผนปฏิบัติงานนอกเหนือจากที่ปรากฏในโครงการที่ได้รับอนุมัติ ให้นักศึกษาแจ้งแผนปฏิบัติงานที่ปรับเปลี่ยนใหม่มายังคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษา

12.10 ในกรณีที่นักศึกษาละทิ้งการปฏิบัติงานก่อนกำหนด ให้ถือว่าไม่ผ่านการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาครั้งนี้

12.11 นักศึกษาต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิใดๆ ของพนักงานหรือบุคลากรในสถานประกอบการ

หมวดที่ 6
บทกำหนดโทษ

ข้อ 13. นักศึกษาผู้ใดที่ฝ่าฝืนประกาศนี้ จะได้รับพิจารณาโทษว่ากล่าวตักเตือน หรือภาคทัณฑ์หรือประเมินผลไม่ผ่านการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา และอาจถูกพิจารณาลงโทษทางวินัยตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยวินัยนักศึกษาอีกโสตหนึ่งด้วย

หมวดที่ 7
การประเมินผลการศึกษา

ข้อ 14. การประเมินผลการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา

14.1 การพิจารณาผลการประเมินผลการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา ดำเนินการโดยคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะ

14.2 นักศึกษาจะต้องเข้ารับการประเมินผลการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษาได้ต้องปฏิบัติตาม
ระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติในการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา

14.3 การประเมินผลการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษา ประกอบด้วย

14.3.1 ประเมินผลการปฏิบัติงานและรายงานการปฏิบัติงานโดยสถานประกอบการหรือพนักงาน ที่ปรึกษา (ร้อยละ 50)

14.3.2 ประเมินผลจากรายงานสรุปผลการฝึกสหกิจศึกษาและบันทึกการฝึกปฎิบัติงาน(ร้อยละ10) และรายงานโครงการวิจัยสหกิจศึกษา ที่เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะ (ร้อยละ 20)

14.3.3 ประเมินผลจากการนิเทศงานสหกิจศึกษาของคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษา (ร้อยละ 10)

14.3.4 ประเมินผลจากการนำเสนอโครงการวิจัย (ร้อยละ 10) โดยการนำเสนอโครงการวิจัยนั้น จะนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะ ทั้งนี้คณะกรรมการดำเนินงานสหกิจศึกษาประจำคณะ อาจเชิญผู้สนใจเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานดังกล่าว

14.3.5 การประเมินผลให้ใช้ระดับคะแนนตัวอักษรตามข้อระเบียบในหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร (หลักสูตรปรับปรุง) พ.ศ. 2555 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำ และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช และข้อระเบียบในหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาธุรกิจการเกษตร หลักสูตรพ.ศ.2557

14.3.6 เกณฑ์การผ่านรายวิชาสหกิจศึกษา ดังนี้ คือ
คะแนน 70-100% ได้ S (Satisfactory) ผ่าน
คะแนน 0- 69% ได้ U (Unsatisfactory) ไม่ผ่าน