แนะนำคณะประวัติคณะสัตวศาสตร์ฯ

ข้อมูลทั่วไปของคณะสัตวศาสตร์

ประวัติคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร

ในปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยศิลปากรมีนโยบายในการขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังจังหวัดใกล้เคียงกับที่ตั้งมหาวิทยาลัยเดิม (วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร และพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม) ผู้บริหารในขณะนั้นนำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ จึงพิจารณาหาพื้นที่ตั้งวิทยาเขตใหม่ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอนครชัยศรี จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดเพชรบุรี จนในที่สุดเหลือเฉพาะที่ราชบุรีและเพชรบุรี ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งวิทยาเขตใหม่ที่ราชบุรี และมีแนวทางจัดตั้งคณะวิชาต่างๆ รวมทั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยได้จัดสัมมนาผู้เกี่ยวข้องทั้งของจังหวัดราชบุรีและของมหาวิทยาลัยเพื่อทราบความต้องการของท้องถิ่นแต่ผลความต้องการของบุคลากรในพื้นที่ไม่ตรงกับแผนพัฒนาเดิมที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติไว้ โครงการดังกล่าวจึงชะลอไป จนในที่สุดปี 2542 ศาสตราจารย์ ดร.ตรึงใจ บูรณสมภพ อธิการบดีในขณะนั้น จึงขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการย้ายวิทยาเขตใหม่ไปที่ หมู่ที่ 1 หมู่บ้านไร่ใหม่พัฒนา ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และมีแผนในการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตรขึ้นเป็นคณะแรก เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าพื้นที่โดยรอบมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มหาวิทยาลัยจะได้ให้บริการได้โดยตรง จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2544 ได้อนุมัติโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง ดร.สุภสร ชโยวรรณ เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้ง คณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร

เมื่อสภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตรตามที่คณะกรรมการเสนอ ต่อมาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมได้ทักท้วงว่าชื่อ “อุตสาหกรรมการเกษตร” ของโครงการฯ จะซ้ำซ้อนกับการสอนของภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซึ่งสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 จึงได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อจากโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร เป็น “โครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร” และอนุมัติหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร)

ต่อมาเมื่ออาจารย์พุฒ วีระประเสริฐ ได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดี และได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา (อาจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช) เป็นผู้รับผิดชอบการประสานงานกับกรมธนารักษ์ เพื่อขอพื้นที่ 200 ไร่ จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 200 ไร่ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 ซึ่งบริเวณที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ห่างจากพื้นที่ทั้งวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ประมาณ 3 กิโลเมตร ทางวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีและคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ได้เล็งเห็นพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมในการจัดทำเป็นฟาร์มฝึกงานเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ในการฝึกทดลองเลี้ยงสัตว์ และแปลงเกษตรของนักศึกษา การทำงานวิจัยและเป็นแหล่งจัดสัมมนาให้บริการทางวิชาการทางด้านการเกษตรแก่ชุมชน ดังนั้นคณะสัตวศาสตร์ฯ จึงได้ตั้งงบประมาณเพื่อการก่อสร้างฟาร์มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ได้มีประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องการจัดตั้งและแบ่งหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2550 โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานในกำกับคณะสัตวศาสตร์ฯ ดังนี้

สาขาวิชาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำ
สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช
สำนักงานเลขานุการคณะเป็นหน่วยงานหลัก ประกอบด้วย

1. งานบริหารและธุรการ
2. งานบริการการศึกษา
3. งานพัฒนาองค์กร
4. งานสนับสนุนด้านปฏิบัติการ

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2552 อธิการบดี อาจารย์ ดร. อุทัย ดุลยเกษม ได้แสดงถึงนโยบายแนวทางการบริการจัดการของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี โดยให้วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีมีการจัดการแบบรวมศูนย์ ซึ่งมีสำนักงานวิทยาเขตเป็นหน่วยงานสนับสนุนแก่คณะวิชา และมีหน้าที่ปฏิบัติงานการแทนสำนักงานเลขานุการคณะ ซึ่งสำนักงานวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีต้องเข้าใจและต้องดำเนินการสนับสนุนให้ภารกิจของคณะวิชาลุล่วงเป็นไปตามพันธกิจ และยุทธศาสตร์ของคณะวิชาภายในวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี เพื่อให้การดำเนินการของแต่ละคณะวิชาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการบริหารจัดการตามนโยบายมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยนโยบายดังกล่าวทางคณะสัตวศาสตร์ฯ จึงขอแบ่งส่วนราชการภายในเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า โดยการบริหารองค์กรรวมศูนย์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักในการบริหารจัดการหลักภายในวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีแห่งนี้

ต่อมา ปี 2562 มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ประกาศแบ่งหน่วยงานภายในของคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรเป็น 2 หน่วยงาน ดังนี้

  1. สำนักงานคณบดี ประกอบด้วยหน่วยงานย่อย 2 งาน ได้แก่ (1) งานบริหารทั่วไป และ (2) งานกิจกรรมพิเศษ
  2. ศูนย์ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะหรือตามยุทธศาสตร์คณะ

ประวัติด้านการจัดการหลักสูตร
พ.ศ. 2544 เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกของคณะฯ สาขาวิชาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ในปีการศึกษา 2544
พ.ศ. 2549 หลักสูตรในระดับปริญญาบัณฑิต จำนวน 2 หลักสูตร ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เริ่มเปิดสอน

– หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำ
– หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช

พ.ศ. 2553 หลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา 1 หลักสูตร ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เริ่มเปิดสอน

– หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์

พ.ศ. 2557 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการเกษตร ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เริ่มเปิดสอน
พ.ศ. 2558 หลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษามีทั้งโทและเอก 2 หลักสูตร ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เริ่มเปิดสอน

– หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เพื่อเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
– หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เพื่อเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

พ.ศ. 2563 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาวะผู้นำและการสื่อสารทางการเกษตร ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เริ่มเปิดสอน

สัญลักษณ์ประจำคณะ
ต้นไม้ประจำคณะสัตวศาสตร์ฯ คือ “ต้นกฤษณา”

สีประจำคณะ
สีประจำคณะสัตวศาสตร์ฯ คือ “สีขาวงาช้าง”

ปรัชญา
“รู้คิด รู้ค้นคว้า รู้วิชา รู้จักใช้ปัญญา ร่วมพัฒนาสังคม”

ปณิธาน (Determination)
“สร้างสรรค์ด้วยปัญญา พัฒนาด้วยความรู้ เชิดชูศิลปวัฒนธรรม ก้าวนำด้วยวิชาการ”

วิสัยทัศน์ (Vision)
“ผลิตบัณฑิตด้านการเกษตร ผสานศาสตร์สร้างสรรค์สู่ชุมชน”

พันธกิจ (Mission)

    1. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทางวิชาการและมีทักษะวิชาชีพด้านการเกษตร ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต
    2. วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการเกษตร และพัฒนาศักยภาพงานวิจัยระดับนานาชาติ สู่การนำไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชน
    3. ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรสู่ชุมชน

สมรรถนะหลัก (Core competency)
“การผลิตบัณฑิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสู่ชุมชน”

ค่านิยมองค์กร (Core Value)

ASAT
Adaptability for excellence ปรับตัวสู่ความเป็นเลิศ = ปรับตัวทุกด้าน เลิศทุกด้าน ทัศนคติ รูปแบบการทำงาน รูปแบบการสอนและพัฒนาหลักสูตร ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
Service to the society บริการชุมชน = บริการชุมชน สร้างผลลัพธ์ที่เกิด Impact อย่างเป็นรูปธรรม
Advanced research งานวิจัยที่ก้าวหน้า ในระดับสากล นานาชาติ งานนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สร้างผลลัพธ์ที่เกิด Impact อย่างเป็นรูปธรรม
Think creatively มีความคิดสร้างสรรค์

อัตลักษณ์
“สร้างสรรค์ ใฝ่รู้ สู้งาน”